top of page
  • KETSIREE TURY

ข้อมูลเบื้องต้นระดับชั้นการศึกษาในอเมริกา

Updated: Apr 1, 2022

มาเรียนรู้ข้อมูลเบื้องต้นของระดับชั้นการศึกษาในอเมริกากันค่ะ เขียนขึ้นมาสำหรับคนที่เพิ่งย้ายมาอเมริกา หรือ กำลังตั้งครรภ์ มีลูกเล็กและสนใจเรื่องระบบการศึกษาที่นี่ บทความนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัว หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ และ ผู้ปกครองหลายๆ ท่านนะคะ


โรงเรียน Elementary ที่เคยดูๆ ไว้ให้ลูกสมัยตอนอยู่มิชิแกนค่ะ

ขอเกริ่นว่าโรงเรียนรัฐบาลในอเมริกา โดยทั่วไป ไม่มีการสอบเข้า ไม่มีจ่ายแป๊ะเจี๊ยะหรือรับบริจาคนะคะ (อิอิ) เพราะฉะนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลการเรียน ความเก่ง ความสามารถ เงินในกระเป๋า หรือ เรารู้จักใครบ้าง แต่จะขึ้นอยู่กับที่อยู่อาศัย หรือ residential address ค่อนข้างเป็นหลัก ไปอ่านบทความเกี่ยวกับ การเลือกโรงเรียนให้ลูกในอเมริกา ได้ค่า


ระดับชั้นเรียน/ ระดับการศึกษาในอเมริกา


Preschool/ Pre - K - โรงเรียนเตรียมอนุบาล โดยส่วนใหญ่เริ่มที่อายุ 4 ขวบขึ้นไป มีทั้งของรัฐบาล

และเอกชน เป็นหลักสูตรการเตรียมตัวก่อนเข้าชั้นอนุบาล มีสอบวัดความรู้ ให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง พัฒนาทักษะต่างๆ ที่ต้องใช้ในชั้นอนุบาล ให้เด็กงดนอนกลางวัน บางรัฐมีเรียนฟรีจากงบของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่จะเป็นแบบ part-time 3 วัน ต่ออาทิตย์ หรือ เรียนจันทร์ - ศุกร์ แต่แค่ครึ่งวัน และจะมีโรงเรียนรัฐบาลบางที่ ที่จะมีให้เรียนชั้นเตรียมอนุบาลแบบเต็มวัน


Note: ชั้นนี้ไม่มีการบังคับเรียน ถึงไม่เรียน Pre-K มาก่อนก็สามารถเข้าเรียนชั้นอนุบาลตอน 5 ขวบ ได้ค่ะ แต่เค้าแนะนำให้เรียน เพื่อให้เด็กๆ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ใส่รองเท้าเข้าห้องน้ำ ทานข้าวเอง และ คุ้นชินกับตารางเวลาที่กำหนด


Elementary School - ชั้นอนุบาล ถึง ป.5 โรงเรียนที่นี่จะมีอนุบาล เรียกว่า Kindergarten ถึง ชั้น ป.5 ไม่มีอนุบาล 1/2/3 เหมือนที่เมืองไทย คุณครูประจำชั้น 1 คน สอนหลักสูตรโดยรวมเกือบทุกวิชา เด็กที่เข้าอนุบาลจะมีกฎว่าต้องมีอายุ 5 ขวบขึ้นไปก่อนเข้าเรียน ยึดหยุ่นแค่ไหนขึ้นอยู่กับกฎของแต่ละรัฐ และ School District ค่ะ


Note: ชั้นเรียนอนุบาล หรือ Kindergarten เป็นชั้นการศึกษาแรกที่จำเป็นต้องเรียนค่ะ ไม่เรียน Pre-School เข้า Kindergarten ได้ แต่จะเข้าเรียน Grade 1 ควรจะต้องเรียนชั้น Kindergarten มาก่อนค่ะ


Middle School - ชั้น ป.6 ถึง ม.2 วัยเริ่มวัยรุ่น ช่วงปรับตัวจากปฐมวัยก่อนเข้าสู่วัยเรียนแบบ independent และรับผิดชอบตนเองมากขึ้น เช่น การเดินเรียนไปห้องวิชาต่างๆ แทนที่จะอยู่ห้องประจำ และคุณครูก็จะเน้นถนัดสอนลึกลงไปในแต่ละวิชามากขึ้น แทนที่จะเน้นมีครูประจำชั้นหลักคนเดียวที่สอนวิชาความรู้ทั่วไป



K-8 School - ชั้นอนุบาล ถึง ม.2 เป็นระบบโรงเรียนแบบใหม่กว่า Middle School หน่อย ที่ให้เด็กเรียนจากวัยอนุบาล ยาวไปจนถึงก่อนเข้ามัธยมปลายในบริเวณเขตโรงเรียนเดียวกัน อาจแบ่งแยกตึกเด็ก Middle School (ชั้นป.6 ถึง ม.2) ออกจากกัน แต่จะอยู่ในบริเวณรั้วเดียวกัน ใช้ Facility หลักๆ ร่วมกัน เด็กๆ ได้คุ้นเคยกับเพื่อนที่โตมาในโรงเรียนเดียวกัน (ทางรัฐก็ประหยัดงบในการสร้างโรงเรียนไปในตัว) ข้อเสียของ K-8 คือมีหลายชั้นเรียน นักเรียนเยอะ อาจดูแลเด็กๆ ได้ไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร


High School - ชั้น ม.3 ถึง ม.6 เป็นมัธยมปลายของที่นี่ ไม่ได้มีให้เลือกเรียนสายวิทย์ หรือ สายศิลป์

แบบที่เมืองไทย แต่จะมีวิชาตามหลักสูตรหลัก และวิชาเสริมให้เลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจ บาง High School จะมีโปรแกรม AP หรือ IB หลักสูตร Advanced ที่ยากขึ้น ท้าทายขึ้น สามารถได้เกรดเฉลี่ยสูงขึ้นมากกว่า 4.00 (ถ้าทำคะแนนได้ดี) แต่ถ้าทำคะแนนไม่ดีก็จะเป็นการฉุดเกรด เพิ่มความเครียดโดยเปล่าค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเช็คดูดีๆ ว่า วิชา Advanced ที่เลือกเรียน สามารถใช้เก็บเป็นเครดิตตอนเข้ามหาลัยได้มั้ย และข้อยากในการคิดเทียบเครดิต คือเราก็ไม่รู้ได้ว่ามหาวิทยาลัยไหนจะรับเราเข้าเรียนบ้าง


ชั้นรักโรงเรียนเค้าอีกแล้ว เชื่อมั้ยล่ะคะว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาล Grosse Pointe South High School Photo Credit: Detroit Free Press

พอหลังจบ High School ที่อเมริกาก็ไม่มีเรียนฟรีแล้วค่ะ มหาวิทยาลัยที่นี่แพงมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยของรัฐก็แพงหลายอยู่ เพราะฉะนั้น ขอแนะนำสถาบันต่อไป ที่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันนัก คือนี่เลย Community College



Community College - ไว้เรียนเก็บเครดิตในช่วง ปี 1 - ปี 2 ก่อนย้ายไปเรียนต่อชั้นมหาวิทยาลัยในชั้นปี 3 (Junior Year) ช่วยประหยัดค่าหน่วยกิจ ค่าหอพัก เพราะสามารถพักอยู่กับพ่อแม่ได้ บางวิชาสามารถเรียนได้ตั้งแต่ชั้น ม.5/ ม.6 ต้องเช็คดูดีๆ ด้วยว่ามหาลัยที่แพลนจะไปจะรับหน่วยกิจหรือเปล่า สามีเรียน Community College ก่อน 2 ปี แล้วค่อยไปต่อมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ถึงคุณสามียังต้องจ่ายค่า Student Loan อยู่ แต่ก็ถือว่าประหยัดค่าเล่าเรียนและค่าหอไปได้เยอะพอสมควรค่ะ แถมเพื่อนๆ สามีที่ทำงานเป็น Guidance Counselor ก็แนะนำเลยว่าให้เรียนเก็บเครดิตก่อนไปต่อมหาลัย อ้อ สามารถเรียนจบ Associate Degree หรือ ระดับอนุปริญญา จาก Community College ด้วยนะคะ


Trade School/ Vocational School - โรงเรียนสายอาชีพ คล้ายๆ ปวช. ปวส. แต่ที่นี่โดยส่วนใหญ่จะ

ต้องจบ High School ก่อน แล้วจึงค่อยไปเรียนต่อ ระยะเวลาเรียน 1-2 ปี แล้วแต่วิชาชีพที่เลือกค่ะ สมัยนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นยังไง แต่มีเพื่อนสามีเรียนด้านนี้ รายได้ดีมาก เพราะค่าแรงงานที่นี่แพง ตอนนี้หน้าที่การงานก้าวหน้ามาก ไม่ต้องจ่ายค่าเรียนมหาวิทยาลัยแพงๆ แถมได้รายได้สูงกว่าคนจบมหาลัยซะอีก ถ้าอยู่อเมริกา ดูถูกด้านสายอาชีพไม่ได้เลยนะคะ


Michigan State University มหาวิทยาลัยที่ทำให้พบรักกับคุณสามีค่ะ นักเรียน Transfer เจอกับนักศึกษาแลกเปลี่ยน

University/ College - ป. ตรี ป. โท ป.เอก ปริญญาตรีเรียน 3.5 - 4 ปี ปริญญาโท 2 ปี ส่วนปริญญาเอก ระยะเวลาเรียนแล้วแต่สาขาวิชาค่ะ สำหรับตัวเอง สมัยนี้ตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ คือการเรียนมหาวิทยาลัยแบบหลักสูตรออนไลน์ค่ะ มีให้เลือกทั้งป. ตรี และ ป. โท ราคาประหยัดกว่าเยอะมากกกกก ก. ไก่ ล้านตัว แต่ถ้าหากเรามีทุนทรัพย์ ก็ต้องบอกว่าการเรียน face-to-face ที่มหาลัย เป็นทางเลือกที่ดีกว่าแน่นอนค่ะ การได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน การเรียนรู้กับ professor ได้ถามคำถามและได้ feedback รวมไปถึงการได้ใช้ชีวิตในวัยมหาวิทยาลัย มันมีประโยชน์มหาศาล ช่วยให้เรามีแรงกระตุ้นในการเรียนรู้มากมายกว่าการเรียนออนไลน์ค่ะ




ไว้บทความต่อไปจะมาเล่าให้ฟังเรื่องประเภทโรงเรียนรัฐบาลนะคะ คือ Public School, Magnet School และ Charter School และสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ การเลือกโรงเรียนให้ลูกในอเมริกา ได้ตามลิงค์บทความเลยค่ะ


ถ้าอ่านแล้วชื่นชอบ หรือ บทความนี้มีประโยชน์ สามารถสนับสนุนบล็อกนี้ได้ด้วยการแชร์ หรือช่วยอุดหนุนสินค้าแนะนำกันได้ที่หน้าร้านใน Amazon นะคะ (ไม่ได้ขายของเองโดยตรงนะคะ เป็นการแนะนำสินค้าเฉยๆ) ขอบคุณมากค่า




Hi, I'm Ketsiree Tury. Let's Connect!

Foodie | Blogger | Content Strategist


เคยทำงานด้าน Digital Content Marketing ดูแลการทำเว็บไซต์และโซเชียล ค้นหาข้อมูลเขียนเนื้อหาและบทความบนเว็บไซต์นมผงชื่อดัง ผงซักฟอกยี่ห้อชื่อดัง รวมไปถึงแบรนด์ FMCG อีกหลายแบรนด์ แต่งานที่สำคัญที่สุดคือเป็นมัมมี่ของลูกจ้า


Facebook: Land of the Raising Sons

Instagram: Land of the Raising Sons

Pinterest: Land of the Raising Sons

Store: Land of the Raising Sons


1,416 views0 comments
bottom of page