- KETSIREE TURY
ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 1
Updated: Apr 29, 2022
ขอเกริ่นว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้รู้ในด้าน Gifted Education ในอเมริกานะคะ แต่สนใจด้านนี้ เพราะมีโอกาสได้มาทำความรู้จักกับ Gifted Education ทั้งด้วยความบังเอิญ และ ความไม่บังเอิญ ถือว่าเป็นคุณแม่คนนึง ที่มาแบ่งปันเรื่องราว เล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวในการทำความรู้จักกับ Gifted Education ในอเมริกา แล้วกันนะคะ

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ที่ตะหงิดๆ กับ Gifted Education คือ จุดแรกได้ยินเพื่อนแถวบ้านเล่าให้ฟัง ว่าเค้าพาลูกไปสอบวัดไอคิวเอง และเค้าส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชน ซึ่งตอนนั้นก็สงสัยว่าโรงเรียนนั้นมันมีโปรแกรมสำหรับเด็ก Gifted เหรอ ถึงลงทุนส่งลูกไปเรียน? เพราะแถวบ้านมี โรงเรียน K-8 พึ่งสร้างเสร็จ ใหม่เอี่ยม ดูดี น่าเรียนมากๆ เราไม่มีแพลนจะส่งลูกเรียนเอกชน ก็เลยไม่ได้ถามต่อ แต่มีมาคุยกับสามีนอกรอบว่า อีกหน่อยเราจะพาลูกไปสอบวัดไอคิวมั้ย? เพราะตอนนั้นก็รู้แล้วว่าลูกเราน่าจะมาสายเรียนพอสมควร คุยกันแป๊บเดียวก็สรุปกันว่า การสอบวัดผลไม่ได้จำเป็นสำหรับเรา จะจ่ายเงินหลายร้อยดอล เพื่อให้ใครมาบอกว่าลูกเราฉลาดแค่ไหน ตอนนั้นยังไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะลูกทำอะไร พ่อแม่ก็ว่าสุดยอดอยู่แล้ว (หากทำด้วยความตั้งใจนะจ๊ะ)
อีกจุดที่ทำให้รู้จัก Gifted Education คือในเวลาใกล้เคียงกัน มีโรงเรียนใหม่ย้ายมาใกล้บ้าน โรงเรียนนี้สมัยก่อนเคยเป็น Elementary School ที่ยุบไปแล้ว สภาพโรงเรียนเป็นตึกเก่าๆ ลักษณะคล้ายๆ ตู้ container วางเรียงๆ กัน เรียกว่าควรค่าแก่การทุบทิ้งเป็นอย่างยิ่ง โรงเรียนที่ย้ายมาใช้ตึกเก่าๆ นั่นก็คือ Gifted Academy นั่นเอง พอมีป้ายใหม่ branding ใหม่ ว่าเป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียน Gifted ปุ๊บ ตึก โทรมๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แง่นึงถือว่าเป็นการ upcycle สถานที่ได้อย่างชาญฉลาด อีกแง่นึงกลับรู้สึกว่า "แก้ปัญหาง่ายจัง" เพราะสภาพตึกโรงเรียนและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมเหลือเกิน ตอนนั้นคิดว่าถึงลูกเราจะสอบวัดไอคิวได้คะแนนถึง เราก็คงไม่สะดวกใจให้ลูกไปเรียน (Gifted Academy นึ้ ในรัฐของผู้เขียน จัดอยู่ในประเภท Magnet School สามารถไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ในบทความ ประเภทของโรงเรียนรัฐบาล นะคะ)
ผ่านไปซักพัก เราเริ่มอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Giftedness และ Gifted Education ก็ตอนลูกเข้าเรียน Kindergarten ปีนั้นเป็นปี 2020 ปีแห่งโควิดในอเมริกา ได้เรียน Pre-school ถึงแค่สิ้นเดือนกุมภา หลังจากนั้นก็อยู่บ้านยาวไปจนสิงหา พอเข้าอนุบาล แม่เลยเขียนอีเมลบอกคุณครูว่า ขอให้คุณครูส่งเสริมลูกให้เรียนรู้ได้เต็มที่เลยนะคะ ดีว่าฟลอริด้าเปิดเรียน face-to-face เร็ว เปิดปุ๊บแม่ก็ส่งไปเรียนเลย พอเปิดเรียนไม่นาน เค้าจะให้เด็กๆ สอบวัดผล ดูระดับการเรียนรู้และความเข้าใจของเด็กแต่ละคน พอคุณครูมีเวลาได้รู้จักเด็กซัก 2-3 อาทิตย์ บวกกับคะแนนสอบวัดผลที่ออกมา คุณครูก็อีเมลมาบอกว่า คุณครู refer ให้ลูกเข้า Enrichment Program ที่โรงเรียน และมีเด็กอีก 2 คนในห้อง ที่จะเข้าโปรแกรมนี้เหมือนกัน
โปรแกรม Enrichment?!?!? ตอนนั้นนี่แม่หัวใจโบยบิน ตื่นเต้นสุดๆ เพราะไม่รู้มาก่อนว่ามันมีโปรแกรมอะไรแบบนี้ในโรงเรียนรัฐบาล ที่ชั้นทิ้งงานดีๆ เงินเดือนดีๆ ที่กรุงเทพ มาอยู่ที่นี่ คือเริ่มคุ้มแล้ว (ฮือออออออ) สำหรับ Enrichment Program ถ้าหากไม่ได้สนใจหรือขวยขวาย ก็คงไม่รู้ว่ามีโปรแกรมลักษณะนี้ในโรงเรียนรัฐบาล เด็กจะต้องสอบได้คะแนนออกมาในระดับสูงมากกว่าเกณฑ์ค่อนข้างเยอะ และแสดงออกถึงศักยภาพในห้องเรียน แต่ไม่ต้องห่วงว่าเด็กๆ จะรู้สึกแปลกแยกนะคะ เด็กๆ ที่เข้าโปรแกรม Enrichment แค่แยกออกมาเข้าห้องครูพิเศษเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นก็เข้าห้องเรียนร่วมกับเพื่อนๆ คนอื่นตามปกติ

ตอนนั้นก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของเด็ก Gifted ตื่นเต้นอ่ะ เธอๆ มันจะใช่รึเปล่า ความภูมิใจมันพรั่งพรู ใจฟู ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ทั้งวัน ยิ่งกว่าสมัยพึ่งจีบกันกับผู้ชายใหม่ๆ มาดูกันค่ะว่าลักษณะที่บ่งบอกได้ว่าเด็กเล็กอาจจะมี Giftedness มีอะไรบ้าง (แปลมาจากบทความ Source: https://www.pvschools.net/)
มีความตื่นตัวสูงในวัยทารก
นอนหลับไม่เยอะเท่าเด็กทารกทั่วไป
ยิ้มเร็วและจำคนดูแลได้ไว
มีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้นาน
ทำนู่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา (High activity level)
มีการตอบสนองที่รุนแรงกับเสียง ความเจ็บ หรือ เวลาขัดข้องใจทำอะไรไม่ได้
มีพัฒนาการที่ดีและเร็วกว่าปกติ
ความจำเป็นเลิศ
ชอบเรียนรู้และเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
มีพัฒนาการด้านภาษาที่เร็วและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
ชอบหนังสือเป็นพิเศษ
ช่างสงสัย
มีอารมณ์ขัน
แก้ปัญหาได้ดี
มีความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรม (abstract reasoning) เช่น ความสุข ความรัก ความหวัง
มีจินตนาการเป็นเลิศ (เช่น มีเพื่อนในจินตนาการ)
มีความอ่อนไหวและมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
*ลักษณะเหล่านี้เป็นเพียงเกณฑ์เพื่อช่วยบ่งบอกได้ว่าเด็กเล็กอาจจะมี Giftedness นะคะ ต้องมีการสอบวัดผลไอคิวกับนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ในการประเมินระดับสติปัญญาอย่างเป็นทางการก่อน ถึงจะยืนยันได้ว่า เด็กมี Giftedness หรือไม่
ถ้าเด็กๆ มีลักษณะส่วนใหญ่ตรงกับลิสต์นี้โดยธรรมชาติ ก็มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าตัวเล็กที่บ้านอาจจะเป็นเด็ก Gifted ค่ะ สมัยลูกคนโตเป็นเด็กเดือน นอนกลางวัน วันละ 45 นาที วันที่โชคดีหน่อย อาจมี 1 ชั่วโมงนิดๆ แม่ไม่มีคนช่วย โปรดอย่าถามว่าเคยมีเวลาทำอะไรมั๊ย สู้ชีวิตมาขนาดไหน =_=' ทั้งนี้ทั้งนั้น ในจำนวนเด็ก 100 คน จะมีเด็ก 2 คน ที่ถือว่า Gifted (เยอะกว่าที่แม่เคยคิดไว้ค่อนข้างเยอะเลยล่ะ) ซึ่งเด็ก Gifted ก็จะมีแบ่งประเภทออกมาอีก ว่า Gifted ในระดับไหน เด็กที่อ่านหนังสือออกได้ตั้งแต่ 2-3 ขวบ เข้ามหาลัยตั้งแต่ยังไม่เริ่มวัยรุ่น แบบนั้นมีแค่ 1 หรือ 2 คน ในคนจำนวนหนึ่งล้านคน ส่วนไอคิวระดับ Elon Musk หรือ Mark Zuckerberg (IQ 150-155 โดยประมาณ) มี 1 ใน 10,000 คน แต่ในแง่ของความสำเร็จของ 2 คนนี้ เทียบเป็น 1 ในพันล้านคนได้เลยนะแม่ว่า

ไอคิวสูง ไม่ได้แปลว่าจะต้องประสบความสำเร็จสูงตามไอคิวนะคะ คนละส่วนกันเนาะ เคยอ่านข้อความเกี่ยวกับคนที่มีไอคิวสูงมากๆ และเหมือนโดนกดดันมาตลอดชีวิต ว่าจะต้องมีความสามารถโดดเด่น หรือประสบความสำเร็จให้ได้มากกว่าคนไอคิวทั่วไป (คนทั่วไปไอคิวจะอยู่ที่ประมาณ 85 -115) ไว้มีเวลาจะมาแปลให้ฟัง อีกอย่างที่ควรรู้ คือ เด็กที่วัดไอคิวออกมาได้คะแนนสูง ไม่ใช่จะเป็นเด็กเก่งที่ใช้ชีวิตได้อย่างปกติทุกคน บางคนมีปัญหาด้านการเรียนรู้อย่างอื่น เช่น ADHD, Dyslexic แม้แต่ Autistic ก็มี และบางคนก็มีปัญหาด้านเข้าสังคม พูดจาไม่น่าฟัง เข้ากับใครไม่ค่อยได้ หรือชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว ซึ่งเป็นปัญหาที่มาพร้อมกับไอคิวที่สูงเกินไป (แต่ข้อหลังๆ ส่วนใหญ่ที่เป็นกัน ไม่น่าจะใช่เพราะไอคิวสูงนะ อิอิ)
พอแม่สนุกไปกับการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Giftedness ซักพัก ก็ลองถามครูประจำชั้นว่า โปรแกรม Enrichment คือนัยว่า Gifted รึเปล่าคะ คุณครูตอบมาอย่างไว ว่าไม่ใช่นะคะ (อ้าววววว แต่ในใจมันคิดไปแล้วว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ) แต่เราก็ไม่ได้ถามอะไรต่อ เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ถามเยอะไปเราก็จะดูอวยลูกเกินไป รู้แค่ว่าลูกได้เรียนหลักสูตรเสริมทุกวัน แม่ก็ฟินสุดๆ แล้ว และที่สำคัญลูกชอบและสนุกกับ Enrichment Class แค่นี้ก็เรียกว่าฝันที่ยิ่งกว่าฝัน เพราะแม่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันมีโปรแกรมอะไรแบบนี้ในโรงเรียนรัฐบาลด้วย
ตอนแรกเคยคิดว่า Enrichment เป็นคำศัพท์ที่ใช้เวลาโรงเรียนอยากเลี่ยงคำว่า Gifted เพื่อให้ไม่ดูแปลกแยก หรือ โชว์พราวด์จนเกินไป และบางเอกสารก็ใช้คำนี้ใช้แทนเปรียบเปรย เป็นคำใกล้เคียงกันที่ใช้พูดถึงหัวข้อเกี่ยวกับเด็กที่ทำคะแนนสอบวัดผล (standardized tests) ได้ดี แต่แน่นอนว่า Enrichment Program กับ Gifted Program มันคือคนละความหมายกัน และตอนหลังก็มาเข้าใจว่า มันก็อาจมีจุดประสงค์ในการเลือกการใช้คำจำกัดความของโปรแกรมการเรียนเสริม ในแต่ละโรงเรียนที่แตกต่างกัน ไว้มาเล่าให้ฟังนะคะ

ขอเมาท์มอยว่าลูกโชคดีมากที่ได้เจอคุณครูอนุบาลคนนี้ในปีที่มีโควิด แม่ขอให้คุณครูผลักดันลูกเต็มที่ คุณครูก็ผลักดันแบบสุดๆ ไปเลยจ้า (จนลูกบ่นว่าเรียนเหนื่อยมาก) เพราะคุณครูอนุบาลของลูกเคยเป็นคุณครูใหญ่โรงเรียนดังมาก่อน เค้าลดระดับความรับผิดชอบลงมา เพื่อมีเวลาได้ดูแลลูกและอยู่กับที่บ้านมากขึ้น เลยอยากเน้นย้ำว่า ถ้าอยากเรียนกับคุณครูคุณภาพดี ก็ต้องเลือกโรงเรียน Rating ดีๆ เพราะคุณครูเก่งๆ โดยส่วนใหญ่เค้าก็เลือกที่ทำงาน เลือกที่อยู่ใกล้โรงเรียนดีๆ ให้ลูกเค้าเหมือนกัน ไปอ่านบทความ การเลือกโรงเรียนให้ลูกในอเมริกา กันได้นะคะ
ที่สำคัญ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นคุณครูประจำชั้นนี่ล่ะ ที่จะเป็นคนพิจารณาและ refer ให้ลูกเราได้เข้า Enrichment Program หรือ Gifted Program ถ้าครูไม่เก่ง เค้าคงไม่ได้มานั่งสังเกตและมองเห็นศักยภาพของเด็กแต่ละคน แต่เพราะแม่เลือกโรงเรียนจาก Rating แม่ว่ามันก็คัดคุณภาพของคุณครูได้ดีพอสมควร จากประสบการณ์คือพอใจมากกับคุณครูประจำชั้นของลูกค่ะ (ในแง่การสอนนะคะ การดูแลเป็นอีกเรื่องนึง) อีกอย่างนึงก็คือ โรงเรียน Rating ดี ก็จะมีคุณครูพิเศษ ในฟลอริด้าเรียกว่าคุณครู ESE (Exceptional Student Education) เค้าจะติดตามเฝ้าสังเกตดูผลสอบวัดผลของนักเรียนที่คะแนนสูงๆ เป็นอีกคนที่ช่วย refer Enrichment Program หรือ Gifted Program ให้เด็กได้ ไว้มาเล่าเพิ่มเติมนะคะ
หวังว่าบทความ ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 1 จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ ข้อดีอันดับต้นๆ ในการอาศัยอยู่ในอเมริกา คือ เรามีสิทธิ์เลือกโรงเรียนที่ดี มีคุณภาพ และที่สำคัญเรียนฟรี ที่เหมาะกับบ้านเราและลูกเราที่สุดได้ อย่าลืมใช้สิทธิ์นั้นกันนะคะ ทั้งนี้ทั้งนั้น โปรแกรมพิเศษของแต่ละรัฐ แต่ละ School District หรือแม้แต่ละโรงเรียน จนถึงแต่ละโปรแกรม นั้นไม่เหมือนกัน ต้องไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเอานะคะ และขอเสริมว่าแม้ลูกเราจะไม่ Gifted ไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง เด็กไม่ต้องถึงไอคิวขั้น gifted ก็สามารถเรียน Space Engineering หรือ เป็นหมอด้าน Neurosurgeon ได้ ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ลูกเราจะเก่งแค่ไหน gifted ระดับใด ก็ไม่ได้แปลว่าเค้าจะต้องโตมาเป็นสูตรสำเร็จ ต้องทำ หรือ ต้องมีอะไรคืนสู่ให้โลกและสังคมมากกว่าคนทั่วไป
ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 2 จะพูดถึงจากประสบการณ์ส่วนตัว ว่า Enrichment Program และ Gifted Program แตกต่างกันยังไง ในแง่ของสิทธิ์การเข้าเรียน และ รัฐไหนบ้างในอเมริกามีงบจัดสรรสำหรับ Enrichment และ Gifted Education ถ้าอ่านแล้วชื่นชอบ หรือ บทความนี้มีประโยชน์ สามารถสนับสนุนบล็อกนี้ได้ด้วยการแชร์ หรือช่วยอุดหนุนสินค้าแนะนำกันได้ที่หน้าร้านใน Amazon นะคะ (ไม่ได้ขายของเองโดยตรงนะคะ เป็นการแนะนำสินค้าเฉยๆ) โดยเฉพาะ ของเล่นแนะนำ และ หนังสือแนะนำ ขอบคุณมากค่า
Hi, I'm Ketsiree Tury. Let's Connect!

Foodie | Blogger | Content Strategist
เคยทำงานด้าน Digital Content Marketing ดูแลการทำเว็บไซต์และโซเชียล ค้นหาข้อมูลเขียนเนื้อหาและบทความบนเว็บไซต์นมผงชื่อดัง ผงซักฟอกยี่ห้อชื่อดัง รวมไปถึงแบรนด์ FMCG อีกหลายแบรนด์ แต่งานที่สำคัญที่สุดคือเป็นมัมมี่ของลูกจ้า
Facebook: Land of the Raising Sons
Instagram: Land of the Raising Sons
Pinterest: Land of the Raising Sons
Store: Land of the Raising Sons