- KETSIREE TURY
ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 2
Updated: Apr 28, 2022
ขอเกริ่นว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้รู้ในด้าน Gifted Education ในอเมริกานะคะ แต่มีความสนใจด้านนี้ ถือว่าเป็นคุณแม่คนนึง ที่มาแบ่งปันเรื่องราว เล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวในการทำความรู้จักกับ Gifted Education ในอเมริกา แล้วกันนะคะ (ประสบการณ์ในรัฐฟลอริด้า)

จากตอนที่แล้ว ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 1 ที่เล่าให้ฟังว่าคุณครูประจำชั้นอนุบาลของลูกชายเคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนดังมาก่อน แม่ขอคุณครูให้ผลักดันลูกแม่ให้เรียนรู้ได้เต็มที่ และแกก็ทำจริงๆ เพราะฉะนั้น เวลาลูกเข้าเรียน Enrichment Class (โปรแกรมเสริมสำหรับเด็กที่ได้คะแนนสอบวัดผลสูงมากกว่าปกติ) กลับถือเป็นการพักเบรคของลูก ได้เล่นสนุก พักสมอง กว่าห้องเรียนปกติซะอีก นึกแล้วก็ขำ เวลาไปรับกลับมาจากโรงเรียน บางวันเด็กบ่นว่าเหนื่อยมากแม่ แต่แม่ก็ไม่ได้เบรคคุณครู เพราะรู้ว่าลูกเรียนไหว ถือว่าเป็นการออกกำลังกายสมอง ชดเชยที่หยุดเรียนไปนานเพราะโควิด
หลังจากช่วงฮันนีมูน ตื่นเต้นกับศักยภาพของคุณครู และ โปรแกรม Enrichment กระตุ้นการเรียนรู้ได้ไม่นาน ก็มีปัญหาค่อนข้างใหญ่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ทำให้แม่ที่สนใจด้านการศึกษาอยู่แล้ว รู้ถึงข้อกฎหมาย School Choice ที่แปลได้ว่า "เหลือแต่ Choice โรงเรียน ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือก" แต่ไว้ค่อยมาเล่าเรื่องปัญหานะคะ เพราะในที่สุดฟ้าหลังฝนก็มีจริง พอจบอนุบาล ลูกแม่ก็ได้รับสิทธิ์เข้า Magnet School ด้านภาษา จากการที่แม่ได้สมัครล็อตเตอร์รี่เอาไว้ (ไปอ่านได้ในบทความประเภทของโรงเรียนรัฐบาล) โชคดีว่าน่าจะมีคนสละที่นั่งพอดี เลยได้โรงเรียนที่แม่อยากให้ลูกเข้าแบบเหนือความคาดหมาย โรงเรียน Rating ดี ใกล้บ้าน แถมเป็นทางผ่านไปที่ทำงานของคุณพ่ออีกต่างหาก ตอบโจทย์ Rating และ ปัจจัยเสริมในการเลือกโรงเรียน ของแม่เกือบทุกข้อ
ก่อนเข้าโรงเรียน Magnet แม่ก็ถามครูใหญ่ว่า โรงเรียนมีโปรแกรม Enrichment มั๊ย เพราะลูกแม่เคยเรียนนะในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนเก่า ถ้าเป็นไปได้แม่ก็อยากให้ลูกได้เข้าอีก ครูใหญ่ก็แนวไม่เชิงตอบว่ามีหรือไม่มี แม่ส่งผลสอบยืนยันว่าคะแนนสอบวัดผลลูกแม่ได้คะแนนดีมากนะ และส่งรูปและอีเมลต่างๆยืนยันว่าได้เข้าเรียน Enrichment Program จริงๆ ครูใหญ่ก็บอกแค่ว่ายินดีด้วยที่ลูกคุณได้คะแนนดี และบอกว่าที่มีเรียนเสริม ยังไงหลักสูตรในห้องเรียนมีเนื้อหาที่ท้าทายความสามารถอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง
สรุปตอนหลังแม่ก็มาทราบว่า โรงเรียนปัจจุบันไม่มี Enrichment Program ค่ะ มีแต่ Gifted Program อ้อ มิน่าล่ะ ไม่มีใครบอกตรงๆ พูดตรงๆ กับแม่ ว่ามีหรือไม่มี เพราะแต่ละโรงเรียนมันหลักสูตรไม่เหมือนกันจริงๆ ความสามารถของนักเรียนของแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน คราวนี้แม่เลยอธิบายได้แล้วว่า 2 โปรแกรมนี้ ต่างกันยังไง เทียบจากปีนี้ (ชั้น ป.1) และปีที่แล้ว (Kindergarten) ในแง่ของสิทธิ์ในการเข้าโปรแกรม หรือ Eligibility ก่อนนะคะ

สิทธิ์ในการเข้า Enrichment Program ดูหลักๆ 2 ส่วน คือ
1. คะแนนสอบวัดผล และ
2. ศักยภาพในห้องเรียน
สรุปว่า Enrichment Program หรือโปรแกรมเรียนเสริมสำหรับเด็กนักเรียนที่ได้คะแนนวัดผลสอบดีและมีศักยภาพสูง ไม่จำเป็นต้องผ่านการสอบวัดไอคิว นักเรียนก็มีสิทธิ์เข้าเรียน Enrichment Program ได้ ถ้าครูประจำชั้น refer ซึ่งเท่าที่เคยอ่านๆ มา ทางผู้ปกครองก็สามารถเป็นฝ่ายลองถามดูได้นะคะ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเด็กเก่งจริงๆ คุณครูที่เก่งและ/หรือมีประสบการณ์ดูออกแน่นอนค่ะ ไม่ต้องเป็นกังวล

ส่วนการเข้า Gifted Program มีหลายขั้นตอนหน่อยนะคะ และขั้นตอนค่อนข้างเป็นทางการ ในการคัดกรองและ ระบุตัว (Identify) เด็ก Gifted
1. คะแนนสอบวัดผล และ
2.1 ศักยภาพในห้องเรียน คุณครูประจำชั้น refer เป็นขั้นตอนเบื้องต้นก่อน
2.2 คุณครู ESE (Exceptional Student Education) จะติดตามเฝ้าสังเกตดูผลสอบวัดผลของนักเรียน
ที่คะแนนสูงผิดปกติ และคุยกับครูประจำชั้น เพื่อให้เฝ้าดูศักยภาพและทำการ refer
3. จะมีการสอบวัดไอคิวข้้นพื้นฐาน โดยคุณครู ESE ในโรงเรียน หากผลออกมาได้คะแนนเกินเกณฑ์
ที่กำหนด ก็จะตามมาด้วย
4. การติดต่อผู้ปกครองว่าจะยินยอมให้มีการสอบวัดไอคิวอย่างเป็นทางการหรือไม่ พร้อมให้ผู้
ปกครองกรอกข้อมูลของเด็ก เช่น จุดเด่นของเด็ก ความสำเร็จของเด็กในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นในด้าน
การเรียน หรือ ด้านการเข้าสังคม หรือ ความกังวลต่างๆ เกี่ยวกับเด็ก เป็นต้น
5. มีการสอบวัดไอคิวกับนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ในการประเมินระดับสติปัญญา ถ้าสอบผ่าน ได้
คะแนนเกินเกณฑ์ (ไอคิว 130 ขึ้นไปโดยประมาณ) ก็จะมีการดำเนินการต่อไป
6. คุณครูประจำชั้นประเมิณผลและให้คะแนนพฤติกรรมในห้องเรียน เพื่อรับรองว่าเด็กมีคุณลักษณะ
ที่สมควรได้รับ Gifted Education
7. ทุกฝ่ายมีการประชุมกัน ไม่ว่าจะเป็น คุณครู ESE ครูประจำชั้น นักจิตวิทยา ผู้ปกครอง และ เพิ่ม
เข้ามาในกระบวนการขั้นสุดท้ายคือ คุณครู Gifted หากทุกคนลงมติร่วมกัน เด็กที่ผ่านกระบวนการ
ทั้งหมด จึงจะมีสิทธิ์ได้เข้าโปรแกรม Gifted เพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ ที่เด็กควรได้รับนอกเหนือ
จากหลักสูตรการเรียนทั่วไป

สรุปว่าข้อแตกต่างหลักๆ ระหว่าง Enrichment Program และ Gifted Program คือตามศัพท์ที่ใช้เลยค่ะ คือ Gifted Program จะต้องมีการสอบวัดผลทางไอคิวก่อน เด็กนักเรียนจะต้องสอบวัดผลออกมาได้มีไอคิว 130 ขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิ์เข้าเรียน Gifted Program ได้ แถมต้องมีการประชุมลงมติอย่างเป็นทางการ เซ็นเอกสารลงความเห็นชอบจากหลายฝ่าย ว่าเด็กคนนี้สามารถลงเรียนใน Gifted Program ได้ แต่จะมีข้อยกเว้นในกรณีที่เด็กมาจากครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หรือ เด็กที่มาจากพื้นภูมิที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลัก (English as a second language) เค้าก็จะอนุโลมให้เด็กๆ ที่สอบได้ผลไอคิว 115-120 ขึ้นไป มีสิทธิ์เรียน Gifted Program ได้ (คะแนนขั้นต่ำของกรณีพิเศษอยู่ที่เท่าไหร่นั้น อันนี้แล้วแต่โรงเรียนนะคะ)
รัฐบาลอเมริกาไม่ได้มีกฎหมายบังคับให้แต่ละรัฐมีการรองรับ Gifted Education เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทุกรัฐที่จะมีงบจัดสรรไว้สำหรับนักเรียน Gifted ผู้เขียนได้ไปหาข้อมูลมา สรุปคร่าวๆ ได้ว่า ปัจจุบันมีทั้งหมด 29 รัฐ ที่โรงเรียนรัฐบาลมีโปรแกรมเฉพาะไว้รองรับ Gifted Education หรือ Enrichment Program คือ Alabama, Alaska, Arizona, Arkansas, Florida, Georgia, Hawaii, Idaho, Iowa, Kansas, Kentucky, Louisiana, Mississippi, Montana, Nevada, New Jersey, New Mexico, North Carolina, Oklahoma, Oregon, Pennsylvania, South Carolina, Tennessee, Texas, Utah, Virginia, District of Columbia, Wisconsin และ Wyoming
ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐที่มีงบ ก็ไม่ได้แปลว่ามีครบ โดยใน 29 รัฐนี้ ไม่จำเป็นว่าทุก School District หรือทุกโรงเรียนที่จะมี Gifted Education หรือ Enrichment Program นะคะและโรงเรียนที่มีโปรแกรมไว้รองรับเด็ก Gifted ก็อาจจะรับรองการเรียนรู้เพิ่มเติมได้มากน้อย แตกต่างกันไป เช่น บางที่อาจมีเรียนเสริมทุกวัน และบางที่อาจจะมีเรียนเสริมแค่อาทิตย์ละครั้ง หรือน้อยกว่านั้น (บางทีก็แค่ให้มีพอเป็นพิธี แต่ไม่ได้มีงบและบุคลากรเพียงพอรองรับ)

ส่วนรัฐที่ไม่ได้มีการจัดสรรงบอย่างเป็นทางการ ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีโปรแกรมสำหรับเด็ก Gifted ในขณะเดียวกันรัฐที่ขณะนี้มีงบอยู่ อีกหน่อยก็อาจจะมีการยกเลิกได้ (Source: hoagiesgifted.org) เช่นรัฐ Illinois ที่เพิ่งมีการตัดงบจัดสรรสำหรับ Gifted Education ไปไม่นาน ปัจจุบันมีเพียง 4 รัฐ เท่านั้น ที่มีการจัดสรรงบที่เพียงพอ (fully-funded) ไว้รองรับนักเรียน Gifted คือรัฐ Iowa, Oklahoma, Mississippi และ Georgia ซึ่งรายละเอียดของโปรแกรมก็คงต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมกันเอาเองอีกทีนะคะ ว่าแต่ละโรงเรียนมีการเรียนการสอน หรือข้อกำหนดอะไรบ้าง เพราะจากประสบการณ์ ขนาด 2 โรงเรียน ในรัฐเดียวกัน School District เดียวกัน แถมอยู่ใกล้ๆ กัน ก็ยังมี Enrichment Program และ Gifted Program ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แถมแค่ครูคนละคน ผลก็ออกมาคนละแบบกันแล้ว ทั้งวิธีสอน เนื้อหาการสอน ไปจนถึงธรรมชาติของคุณครู
สามารถค้นหาในเว็บไซต์ School District แล้วค้นหาคำว่า Gifted Education หรือ Enrichment Program ดูว่ามีมั้ยนะคะ หรือสามารถสอบถามครูใหญ่ หรือ School District ได้โดยตรง ก่อนเข้าโรงเรียน ว่ามีโปรแกรมเหล่านี้รองรับหรือเปล่า แต่ก่อนถาม ให้แน่ใจก่อนนะคะ ว่าลูกเราผลการเรียนเป็นอย่างไร ขอเน้นย้ำให้ไปอ่านบทความ การเลือกโรงเรียนให้ลูกในอเมริกา เลือกบ้าน = เลือกโรงเรียน อีกรอบนะคะเนื่องจาก โรงเรียน Rating ไม่ค่อยดี ก็อาจจะไม่มีงบ หรือ บุคลากร ไว้รองรับ Enrichment Program หรือ Gifted Program ในทางกลับกัน ปริมาณนักเรียนเก่งๆ ในโรงเรียนที่ Rating ไม่ค่อยดี ก็อาจมีความต้องการไม่เพียงพอที่จะว่าจ้างบุคลากรสำหรับโปรแกรมพิเศษเช่นกัน เพราะฉะนั้นการเลือกโรงเรียน Rating ดี มีชัยไปกว่าครึ่งค่ะ
หวังว่าบทความ ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ ทั้งนี้ทั้งนั้น โปรแกรมพิเศษของแต่ละรัฐ ไม่ว่าจะเป็น Enrichment program หรือ Gifted Program ในแต่ละ School District หรือแม้แต่ละโรงเรียน จนถึงแต่ละโปรแกรม นั้นไม่เหมือนกัน ต้องไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเอานะคะ และขอเสริมว่าแม้ลูกเราจะไม่ Gifted ไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง เด็กไม่ต้องถึงไอคิวขั้น gifted ก็สามารถเรียน Space Engineering หรือ เป็นหมอด้าน Neurosurgeon ได้ ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ลูกเราจะเก่งแค่ไหน gifted ระดับใด ก็ไม่ได้แปลว่าเค้าจะต้องโตมาเป็นสูตรสำเร็จ ต้องทำ หรือ ต้องมีอะไรคืนสู่ให้โลกและสังคมมากกว่าคนทั่วไป
ถ้าอ่านแล้วชื่นชอบ หรือ บทความนี้มีประโยชน์ สามารถสนับสนุนบล็อกนี้ได้ด้วยการแชร์ หรือช่วยอุดหนุนสินค้าแนะนำกันได้ที่หน้าร้านใน Amazon นะคะ (ไม่ได้ขายของเองโดยตรงนะคะ เป็นการแนะนำสินค้าเฉยๆ) โดยเฉพาะ ของเล่นแนะนำ และ หนังสือแนะนำ ขอบคุณมากค่า
Hi, I'm Ketsiree Tury. Let's Connect!

Foodie | Blogger | Content Strategist
เคยทำงานด้าน Digital Content Marketing ดูแลการทำเว็บไซต์และโซเชียล ค้นหาข้อมูลเขียนเนื้อหาและบทความบนเว็บไซต์นมผงชื่อดัง ผงซักฟอกยี่ห้อชื่อดัง รวมไปถึงแบรนด์ FMCG อีกหลายแบรนด์ แต่งานที่สำคัญที่สุดคือเป็นมัมมี่ของลูกจ้า
Facebook: Land of the Raising Sons
Instagram: Land of the Raising Sons
Pinterest: Land of the Raising Sons
Store: Land of the Raising Sons