top of page
  • KETSIREE TURY

ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 3

Updated: May 2, 2022


เดินทางมาถึง Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 3 แล้ว ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมานะคะ ถ้ายังไม่ได้อ่าน 2 บทความก่อนหน้านี้ แนะนำให้ไปอ่านก่อนได้ Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ขอเกริ่นอีกครั้งนะคะว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้รู้ในด้าน Gifted Education ในอเมริกา แต่มีความสนใจด้านนี้ และมารู้จัก Gifted Education ด้วยความบังเอิญ และด้วยความไม่บังเอิญ ถือว่าเป็นคุณแม่คนนึง ที่มาแบ่งปันเรื่องราว เล่าสู่กันฟัง เกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวในการทำความรู้จักกับ Gifted Education ในอเมริกาแล้วกันนะคะ


Gifted Education ในอเมริกา, Gifted Program ในอเมริกา, การศึกษาในอเมริกา, การเลือกโรงเรียนในอเมริกา
กราฟไอคิวนี้นำมาอ้างอิงให้ดูนะคะ ชอบที่มียกตัวอย่างคนดังในประวัติศาสตร์ที่มีไอคิวสูงให้พอเห็นภาพ Credit: ตามรูปเลยค่า

Giftedness มีหลากหลายแบบ แต่ที่ยอมรับและสามารถวัดกันได้ทั่วไปก็น่าจะเป็นด้านไอคิวนี่ล่ะคะ (ระดับของไอคิวและระดับของ Giftedness มีหลากหลายตำราเหลือเกิน สามารถไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ใน IQ classification ค่ะ) แต่นอกเหนือจาก Giftedness ทางด้านไอคิวก็ยังมีพรสวรรค์ด้านอื่นๆ นะคะ เช่น ด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา หรือ แม้แต่ด้านผู้นำ แถมผู้เขียนยังคิดว่ามีพรสวรรค์ด้านหน้าตาด้วยนะคะ หน้าตาฟ้าประทานอะไรแบบนั้น อย่าง เจมส์จิ หรือ นาย ณภัทร (กรี๊ดกร๊าด) เพราะคนที่หน้าตาดีมีทุนมากกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง หรือ influencer ช่วยให้ได้รับโอกาสมากมายในชีวิต หน้าตาดี เผลอๆ อาจจะมี "face value" มากกว่าการที่มีไอคิวดีด้วยซ้ำ (ใครเข้าใจมุกแม่ ช่วยทักที 😁) ปฎิเสธไม่ได้ว่า การมีรูปร่างหน้าตาดี เป็นจุดเด่นและเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต ต่อยอดความสำเร็จได้มากจริงๆ



ขออนุญาตยกตัวอย่างน้อง Lisa Blackpink ที่มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงทางด้านศิลปะการแสดงการที่คุณแม่สนับสนุนให้น้องเรียนเต้น เรียนร้องเพลงตั้งแต่เล็กๆ ต่อยอดความสามารถและความสนใจ ทำให้น้องไปได้ไกลมากจริงๆ ลิซ่าเต้นทีนี่ มีมนตร์สะกดมากๆ สวยเป๊ะในทุกท่วงท่า ส่วนความสำเร็จตอนนี้คงไม่ต้องพูดถึง อีกคนที่ Gifted มากๆ ทางด้านดนตรี ในบ้านเราคือ The Toy สอนตัวเองเล่นกีตาร์ แข่งขันได้แชมป์อันดับหนึ่งในประเทศไทย ตั้งแต่อายุ 19 ปี นอกจากเพลงตัวเอง ก็ยังแต่งเพลงและเป็นโปรดิวเซอร์ให้นักร้องมากมาย มีพรสวรรค์ บวกทั้งพรแสวงแบบสุดโต่ง


สิ่งที่ 2 คนนี้มีเหมือนกัน คือการมองเห็นความแตกต่างและการสนับสนุนจากผู้ปกครองให้เด็กไปได้ไกลตามศักยภาพของเค้า ลองคิดดูว่าถ้าคุณแม่น้องลิซ่าบอกน้องว่า จะเต้นกินรำกินทำไม เรียนหนังสือให้เก่งดีกว่า หรือ หากคุณ นิตยา บุญสูงเนิน ไม่ปล่อยให้น้องทอยลาออกจากโรงเรียน เพื่อให้เค้าได้เรียนรู้และทำในสิ่งที่สนใจอย่างเต็มที่ ก็อาจไม่มี The Toy ในวันนี้ อย่าลืมว่าพรสวรรค์มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะแค่การมีไอคิวสูง หรือสอบได้คะแนนดีนะคะ




ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ส่วนตัวไม่เคยคิดว่าจะพาลูกไปสอบวัดไอคิวเลยด้วยซ้ำ รู้ว่าลูกฉลาดในระดับนึง แต่แม่ก็คิดแค่ว่า ใครๆ ก็คิดว่าลูกตัวเองฉลาด แต่พอมาถึงตอนนี้ หลังจากที่ได้มีการสอบวัดไอคิวเรียบร้อยแล้ว บอกตรงๆ ว่ารู้สึกผิด ที่เราคิด.....แต่ไม่ถึง ถ้าไม่ได้ครูเก่งๆ ที่คอยสังเกต และเฝ้าติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของลูก แม่คงไม่รู้เลยว่ามันมีโปรแกรม Gifted หรือ Enrichment แบบนี้ด้วย (อย่างน้อยก็ไม่ได้คิดว่าจะมีในโรงเรียนรัฐบาล) เพราะฉะนั้นนอกจากการเน้นถึงความสำคัญของการสอบวัดไอคิวที่แม่เคยมองข้ามแล้ว การเลือกโรงเรียนดีๆ นั้นสำคัญจริงๆ ค่ะ ไปอ่านบทความ การเลือกโรงเรียนในอเมริกา และ ปัจจัยเสริมในการเลือกโรงเรียน กันได้นะคะ




โรงเรียนรัฐบาล K-8 ที่ลูกเคยเรียนตอนอยู่ Kindergarten Rating 9/10 ส่วน Magnet School โรงเรียน 2 ภาษา ที่ย้ายมาเรียนตอนเข้าชั้น ป.1 ก็ Rating 9/10 เช่นกัน เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างมีเด็กเก่งเยอะ เพราะฉะนั้นจำนวนของเด็กที่เข้าโปรแรม Enrichment หรือ Gifted ก็อาจจะเยอะกว่าโรงเรียนทั่วไปหน่อย (เว็บหลักๆ ที่ใช้ดู Rating ของโรงเรียน คือ greatschools.org , niche.com และ schooldigger.com)


บางโรงเรียนอาจมีเด็ก Gifted 2-3 คน บางที่มี 10 กว่าคน บางที่มีประมาณ 2% ของนักเรียนทั้งหมด ตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนโรงเรียนลูกชายมีจำนวนเด็ก Gifted สูงถึง 10% เพราะฉะนั้นถ้าใครอ่าน ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 2 ถึงเข้าใจได้ว่า ครูใหญ่เลยเฉยๆ ไม่ค่อยตอบหรือใยดีแม่เท่าไหร่นัก คงแนวประมาณว่า ลูกยูเก่งจากที่อื่นมา ไม่ได้แปลว่าพอมาอยู่โรงเรียนนี้แล้วจะเก่ง และแน่นอนว่าหากเป็น Gifted Academy ให้ทายว่าจะมีนักเรียน Gifted กี่เปอร์เซ็นต์? แน่นอนว่าคือ 100% ต้องมีผลสอบวัดไอคิวที่มีคะแนนเพียงพอก่อน ถึงจะสมัครเข้าเรียนได้ หลังจากนั้นจึงจะมีการจับฉลาก วัดดวง ลุ้นที่นั่งกันอีกที


ทั้งนี้ทั้งนั้นการเรียนในสภาพแวดล้อมที่นักเรียนเป็นเด็ก Gifted หมดทุกคน อาจไม่ได้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของลูกเราเสมอไป (อย่าลืมว่าเด็ก Gifted บางส่วนมีปัญหาด้านการเรียนรู้อย่างอื่น เช่น ADHD, Dyslexic แม้แต่ Autistic ก็มี) และแต่ละโรงเรียนก็มีหลักสูตรและพื้นฐานเด็กนักเรียนที่ไม่เหมือนกัน ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของลูกเราและไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม หาหลักสูตรและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเอานะคะ



เนื่องจากโรงเรียนปัจจุบันของลูกมีเด็กเก่งๆ เยอะมาก กระบวนการสอบวัดไอคิวทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ จึงใช้เวลาถึง 4 เดือนด้วยกัน กว่าจะได้คิวสอบ กว่าจะมีการลงมติจากทุกฝ่าย กว่าจะได้เข้าเรียนในโปรแกรม Gifted คือรอนานมาก เทียบกับโรงเรียนเก่าที่ไม่ต้องสอบวัดไอคิว เข้าเรียนได้เลย แถมมีคาบเรียน Enrichment เสริมเกือบทุกวัน


จากประสบการณ์ส่วนตัวแม่เลยชอบ Enrichment Program มากกว่า Gifted Program ด้วยซ้ำ อีกอย่างเนื่องจากโรงเรียนปัจจุบันเป็น Magnet School 2 ภาษา มีภาษาสเปนหรือภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเข้ามาในหลักสูตรการเรียนทั่วไปอยู่แล้ว เด็กๆ เลยได้เข้าห้องเรียน Gifted แค่ 1 ครั้ง ต่ออาทิตย์ ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอต่อการกระตุ้นการเรียนรู้ แต่แม่คิดว่ามีให้เรียนเสริม ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย และที่แม่ยอมรับได้ เป็นเพราะ 1. ลูกไม่ได้ชอบเรียนหนังสือ และ 2. การเรียนและการสอบวัดผลผ่านแอป i-Ready ที่เป็นการเรียนรู้แบบ customized ไว้จะมาเล่าให้ฟังนะคะ



ข้อดีของพรสวรรค์ด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ แม้จะไม่มีข้อทดสอบมาตรฐานที่วัดระดับความสามารถออกมาได้เป็นค่าตัวเลข คือเราสามารถประเมิณผลลัพธ์ได้ด้วยตา ลูกเต้นเก่ง เสียงดี หรือวาดรูปสวย ทุกคนสามารถชื่นชมได้ด้วยความจริงใจ เราสามารถชมลูก หริอ แชร์กับสังคมได้ "เก่งมากลูก" "ภูมิใจที่สุดเลย" ไม่ได้เป็นปัญหาใดๆ แถมไม่ค่อยมีใครมาเขม่น......เท่าไรนัก


ตรงกันข้ามกับ Giftedness ด้านไอคิว ที่วัดออกมาได้เป็นระดับตัวเลข คะแนนเท่านั้นเท่านี้ นับเป็น percentile เท่าไหร่ บอกได้หมด แต่เป็นพรสวรรค์ที่ไม่ได้มีรูปธรรม สมองทำงานดี มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน เราไม่สามารถมองเห็นได้ และหากลูกเราเป็นเด็ก Gifted จะมีเพียงคนใกล้ชิดเท่านั้น ที่จะปลื้มใจและดีใจไปกับเรา (ส่วนใหญ่แล้วคนจะหมั่นไส้ด้วยซ้ำนะคะ 555 ซึ่งเข้าใจได้)



แต่การบอกคนอื่นไม่ได้เป็นสาระสำคัญ การจะบอกลูกเราเองเนี่ยแหละค่ะ ว่าเค้าเป็นเด็ก Gifted เป็นเรื่องใหญ่และมีความละเอียดอ่อน เพราะมันเป็นการจำแนกลูกออกมาจากคนทั่วไป มี identity ตัวตนใหม่ในทันที อาจทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยก มีความคาดหวังต่อตัวเองสูงจนเกินไป (ซึ่งเด็ก Gifted ก็มักจะมีความคาดหวังกับตัวเองสูงอยู่แล้ว) มีความกดดันว่าจะต้องประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น หรือแย่กว่านั้นคือรู้สึกว่าตัวเอง "เหนือชั้น" กว่าคนอื่น ต้องระวังให้ดี หลายครั้งเราจึงเห็นคนเก่งๆ ที่ทำตัวและพูดจาไม่น่ารัก และ ไม่เป็นที่รัก


การจะบอก ไม่บอก หรือบอกเมื่อไหร่ ในรูปแบบไหน อันนี้แล้วแต่บ้านเลยนะคะ ไม่ได้มีคำตอบตายตัว เป็นคำถามสุดฮิตของผู้ปกครองที่มีเด็ก Gifted ส่วนตัวกับสามีเลือกที่จะยังไม่บอก หากไม่มีความจำเป็น เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และเข้าสังคมตามธรรมชาติของเค้าในฐานะเด็กคนนึง แม้เค้าจะพอรู้อยู่แล้วว่าเค้ามีความแตกต่างก็ตาม


Gifted Education ในอเมริกา, Gifted Program, Enrichment Program, การศึกษาในอเมริกา

การเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาทั่วไปไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน (ไม่จำเป็นว่าเด็กจะ Gifted หรือไม่) แต่ใจความสำคัญคือ ร้อยทั้งร้อย หากลูกเราเป็นเด็ก Gifted การเรียนรู้ในห้องเรียนในหลักสูตรทั่วไปนั้น ไม่เพียงพอ และ ไม่สามารถรองรับการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กได้ มีความจำเป็นที่จะต้องแทรกแซงและปรับตัว เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกมีแรงจูงใจและความสนใจในการเรียนรู้ คอยสังเกตุ เสริมจุดเด่น สนับสนุนจุดด้อย หาหลักสูตรการเรียนและกิจกรรมเสริมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของเค้า มิฉะนั้นจะมีผลกระทบด้านลบกับการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในระยะยาวของเด็ก เด็กบางคนอาจต้องออกจากโรงเรียนทั่วไป เพื่อเข้าโปรแกรมพิเศษ ส่วนเด็กบางคนก็อาจจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการ Homeschool/ Virtual Learning หาสิ่งที่เหมาะกับตัวเด็ก ในภาพรวมของความเป็นไปได้ที่เราจะมอบให้ลูกได้โดยที่ตัวเราไม่ลำบากจนเกินไป




สุดท้ายนี้ หากเรามีความสงสัย มีคำถามในใจอยู่หลายครั้งว่ามันมีความจะเป็นไปได้มั้ย ที่ลูกเราอาจจะเป็นเด็ก Gifted ขอเชียร์ให้เด็กๆ ได้สอบวัดไอคิวนะคะ เพราะการลงทุนครั้งนี้ ตอบคำถามหนึ่งในคำถามที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนๆ นึงได้ คุณพ่อคุณแม่จะได้รู้ว่าต้องวางแผนพื้นฐานการเรียนให้ลูกยังไง ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนนะคะ เพราะหนทางการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก Gifted นั้น เป็นเรื่องท้าทายและอาจมีความยุ่งยากมากกว่าเด็กทั่วไป แต่รับรองว่าไม่เกินพลังความรัก ความทุ่มเทของเราแน่นอนค่ะ


หวังว่าบทความ ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 1, ตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3 จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ ถ้าอ่านแล้วชื่นชอบ หรือ บทความนี้มีประโยชน์ สามารถสนับสนุนบล็อกนี้ได้ด้วยการแชร์ หรือช่วยอุดหนุนสินค้าแนะนำกันได้ที่หน้าร้านใน Amazon นะคะ (ไม่ได้ขายของเองโดยตรงนะคะ เป็นการแนะนำสินค้าเฉยๆ) โดยเฉพาะ ของเล่นแนะนำ และ หนังสือแนะนำ ขอบคุณมากค่า


ป.ล. อยากให้เขียนบทความเกี่ยวกับอะไร คอมเมนต์มาได้นะคะ




Hi, I'm Ketsiree Tury. Let's Connect!

Foodie | Blogger | Content Strategist


เคยทำงานด้าน Digital Content Marketing ดูแลการทำเว็บไซต์และโซเชียล ค้นหาข้อมูลเขียนเนื้อหาและบทความบนเว็บไซต์นมผงชื่อดัง ผงซักฟอกยี่ห้อชื่อดัง รวมไปถึงแบรนด์ FMCG อีกหลายแบรนด์ แต่งานที่สำคัญที่สุดคือเป็นมัมมี่ของลูกจ้า


Facebook: Land of the Raising Sons

Instagram: Land of the Raising Sons

Pinterest: Land of the Raising Sons

Store: Land of the Raising Sons

919 views0 comments
bottom of page