top of page
  • KETSIREE TURY

ทำความรู้จัก i-Ready หลักสูตรยอดฮิตในโรงเรียนอเมริกัน

Updated: May 7, 2022


เรามาทำความรู้จักหลักสูตร i-Ready กันค่ะ เด็กหลายๆ คนน่าจะพึ่งสอบ i-Ready เสร็จกันไปหมาดๆ เป็นการวัดผลก่อนปิดเทอมใหญ่และเลื่อนระดับเปลี่ยนชั้นเรียน ลูกแม่เรียนมา 2 โรงเรียน มีการใช้หลักสูตร i-Ready เสริมการเรียนการสอน ทั้ง 2 ที่ เนื่องจากแม่พึ่งมาเช็คผลสอบ i-Ready ของลูก เพื่อดูว่าระดับคะแนนก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณไหน เห็นบ่นว่าเลขยากนักยากหนา เลยให้แรงจูงใจว่า ถ้ารอบนี้ได้คะแนนสูงขึ้น แม่จะตบรางวัลให้ เลยออกมาเป็นบทความนี้มาแบ่งปันกันนั่นเอง


หวังว่าจะมีประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หรือใครที่สนใจเกี่ยวกับการศึกษาในอเมริกานะคะ


หลักสูตรการเรียนการสอนและแบบทดสอบ i-ready, การศึกษาในอเมริกา, การเลือกโรงเรียนในอเมริกา
Are you ready to learn more about i-ready? Photo Credit: www.monroe.wednet.edu/

ถ้าใครยังไม่รู้จัก หรือ เห็นมาผ่านๆ i-Ready คือการสอบวัดผลและหลักสูตรการเรียนการสอน (Diagnostics and Instruction) ที่มีการ personalized ตามความสามารถของเด็กแต่ละคน โรงเรียน K-8 กว่า 14,000 โรงเรียนในอเมริกา (Kindergarten ถึง เกรด 8) ใช้ผลสอบ i-Ready เป็นเกณฑ์วัดคะแนน เพราะฉะนั้นข้อมูล data นั้นคลอบคลุมนักเรียนถึง กว่า 8 ล้านคน ใน 50 รัฐ ในสหรัฐอเมริกา ถ้าใครได้อ่าน ทำความรู้จัก Gifted Education ในอเมริกา ตอนที่ 2 คะแนนสอบวัดผลเบื้องต้นที่แม่พูดถึงก็คือ คะแนนสอบ i-Ready นี่ล่ะค่ะ (ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะใช้ i-Ready นะคะ ประมาณ 25% ของโรงเรียน K-8 ทั่วประเทศ)




การสอบวัดผล i-Ready คืออะไร?

การสอบวัดผล i-Ready เป็นบททดสอบ 2 ตัววิชาพื้นฐานหลัก คือ Reading และ Math แบบทดสอบจะมีการปรับความยากง่ายตามความสามารถของเด็ก ถ้านักเรียนตอบถูกเรื่อยๆ ความยากของโจทย์ก็จะปรับให้ค่อยๆ ยากขึ้น หากนักเรียนตอบผิด โจทย์คำถามก็จะมีการปรับให้ง่ายลง การปรับความยาก-ง่ายของคำถาม ตามคำตอบถูก-ผิดของนักเรียน ช่วยระบุจุดแข็งและหาจุดอ่อนได้ดี


ผลทดสอบช่วยให้คุณครูได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็ก และรู้ว่านักเรียนต้องปรับปรุงในจุดใด หรือมีศักยภาพไปไกลได้อีกแค่ไหน ถ้าตอนเด็กๆ เรามีแบบนี้บ้างก็คงจะดี เพราะการที่จะทำอะไรได้เต็มที่ เราต้องรู้ก่อนว่าเราเก่งอะไร ไม่เก่งอะไร ช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น ปรับปรุงได้ง่ายขึ้น หากเรารู้ตั้งแต่แรกว่าเราอ่อนในจุดไหนของวิชาขั้นพื้นฐาน


Reading Domain จะประกอบไปด้วย:


  • Phonological Awareness

  • Phonics

  • High-Frequency Words

  • Vocabulary

  • Comprehension: Literature

  • Comprehension: Informational Text


ส่วน Math Domain จะประกอบไปด้วย:


  • Number and Operations

  • Algebra and Algebraic Thinking

  • Measurement and Data

  • Geometry



หลักสูตรการเรียนการสอนและแบบทดสอบ i-ready, การศึกษาในอเมริกา, การเลือกโรงเรียนในอเมริกา
ตัวอย่างผลสอบ i-ready Reading มีให้ดูว่านักเรียนอยู่ในระดับใดบ้าง และพัฒนาขึ้นจากการสอบคราวที่แล้วเท่าไหร่ Photo credit: https://www.mvwsd.org/


จุดประสงค์ของการสอบ คือช่วยให้คุณครูประจำชั้นเข้าใจการเรียนรู้และความถนัด หรือ ไม่ถนัดของเด็ก เพื่อนำไปช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน ว่าจะช่วยพัฒนาในจุดใด ปรับบทเรียนหรือการบ้านตามความสามารถของเด็ก เฝ้าดูผลการเรียน ว่าจะพัฒนาแค่ไหนหรือมีการถดถอย มีข้อมูล data เป็นหนึ่งในเครื่องมือการเรียนการสอน ช่วยติดตามพัฒนาการการเรียนรู้นั่นเอง แม่ว่ามันสุดยอดมาก


การสอบวัดผล i-ready มีสอบ 3 ครั้ง ต่อปี ส่วนใหญ่ถ้าเด็กจะได้ refer เข้า Enrichment Program หรือ Gifted Program ก็จะเป็นผลสอบครั้งแรกของปีนี่ล่ะค่ะ ครั้งที่ 1 จะเป็น 3-4 อาทิตย์หลังเปิดเทอมแรก ครั้งที่ 2 น่าจะแล้วแต่ละโรงเรียน แต่น่าจะเป็นช่วงก่อน หรือ หลัง Christmas Break และครั้งที่ 3 จะเป็นการทดสอบสิ้นปี 4-5 อาทิตย์ก่อนปิดเทอมใหญ่เลื่อนชั้นเรียน


ก่อนสอบครูก็จะแนะนำว่าไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นการประเมิณผลความสามารถของเด็กอย่างแท้จริง ครูจะแค่บอกให้เด็กๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทานข้าวเช้าให้เรียบร้อย



ถ้าใครรู้จักคะแนน Equity หรือถ้าใครพอจำได้จากบทความ การเลือกโรงเรียนให้ลูกในอเมริกา หากมีข้อมูล data ช่วย track ผลการเรียน รู้ว่านักเรียนเรียนอ่อนตรงจุดไหน พัฒนาขึ้นเท่าไหร่จากการสอบคราวที่แล้ว ก็จะช่วยให้คุณครูช่วยนักเรียนปรับปรุงคะแนนได้ง่ายขึ้นค่ะ ไม่ใช่เด็กทุกคนจะมาจากครอบครัวที่พ่อแม่มีเวลาหรือมีความใส่ใจมาดูแลการเรียนของเด็ก การช่วยให้เด็กที่มาจากพื้นฐานยากจนให้ได้ผลคะแนนสอบที่สูงขึ้น จึงอยู่ในการให้คะแนนโดยรวม Rating ของโรงเรียนนั่นเอง "No child gets left behind." อะไรประมาณนั้น



Equity คือหนึ่งในเกณฑ์หลักคะแนน Rating ของโรงเรียนค่ะ โรงเรียนไหนมีหลักสูตรแบบ i-Ready ก็ช่วยเสริมการทำงานของคุณครูให้มีประสิทธิภาพได้ขึ้นเยอะเลยล่ะค่ะ Credit: Greatschools.org

การแสดงข้อมูลของ i-ready Report ก็จะมีความแตกต่างไปในแต่ละโรงเรียน แล้วแต่การดึงผลออกมาแสดงประกอบร่างเป็น Report ให้ผู้ปกครอง ยกตัวอย่าง เช่น โรงเรียนเก่าลูกชายมีบอกรายละเอียดมากกว่า ในแง่ว่าตอบถูกกี่ข้อ หรือ ถ้ามีผิด ผิดคำถามไหนบ้าง ส่วนโรงเรียนปัจจุบันไม่ได้เจาะลึกไปถึงแต่ละโจทย์ในข้อสอบ แต่มีผล Percentile ออกมาเป็น National Norm ผลเทียบออกมาว่าอยู่ใน Percentile ไหนระดับประเทศ Data group ใหญ่มว๊าก ฟินจุกๆ ไปเลยจ้า


เนื่องจากจำนวน Data ที่มาจากเด็กจำนวนมาก การระบุตัวเด็กที่เรียนดีตัวท็อปๆ (Top Performing students) หรือ เด็ก Gifted จึงทำได้ค่อนข้างง่าย เพราะไม่ใช่เก่งแค่ในชั้นเรียน ในโรงเรียน หรือแม้แต่ใน School District แต่เทียบกันได้จากทั้งรัฐและข้ามรัฐกันเลยทีเดียว Percentile ผลออกมาเทียบความสามารถกันระดับประเทศ


ถ้าแม่เป็นคนทำ Report (ซึ่งขอบอกว่าไม่รู้จริงๆ ว่ามันดึงจำแนก Data Group ได้รึเปล่า) แม่จะจำกัดจำนวนคนในข้อมูล Data ตามผลสอบของเด็ก ถ้าไม่เก่งมากก็จะเทียบ Data Group เล็กๆ แค่เทียบในห้อง หรือ ชั้นเรียน เก่งขึ้นมาหน่อยก็เทียบภายใน School District หรือในรัฐ ส่วน National Norm คือเก็บผลไว้สำหรับเด็กที่สอบคะแนนดีจริงๆ เด็กควรได้มีความภูมิใจในตัวเองบ้าง ถ้าเด็กที่เรียนหรือสอบไม่เก่ง ให้เอาผลคะแนนเค้าไปเทียบกับเด็กจากทั่วประเทศ โอ้โห เครียดเกินไปมั๊ย


ตัวอย่าง i-ready Report ดีงามมากจ้ะ เทียบดู performance & growth stretch ได้ทั้งปี เข้าใจง่าย ได้ประโยชน์ Credit: www.mvwsd.org


แต่ในความเครียดของการเปรียบเทียบผลการสอบ ที่มากับความอลังการของข้อมูล Data ก็มีความจริงที่ว่า มันมีคนเก่งกว่าเราเสมอ และสามารถช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็ก กับการแข่งขันของโลกแห่งความเป็นจริงได้ง่ายขึ้น อย่าลืมว่าถ้าใครอยากเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ มันก็คือการแข่งขันกับเด็กทั้งประเทศ บวกด้วย International Students อีกต่างหาก และอีกหน่อย ถ้าหางาน ในตลาดงานเมืองใหญ่ๆ หรืองาน Remote/ Work from Home ยิ่งมีการแข่งขันสูงเข้าไปใหญ่ ถ้าคุ้นชินกับ "National Norm" เร็ว ก็จะยิ่งปรับตัวได้เร็ว (ส่วนตัวแม่ว่าซักเกรด 5 ก่อนเข้า Middle School น่าจะกำลังดี)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะแชร์คะแนน i-Ready กับผู้ปกครองนะคะ แต่คิดว่าเราน่าจะสามารถสอบถามได้ หากเราสนใจว่าลูกถนัดในส่วนไหน หรือต้องปรับปรุงด้านใด ลองเช็คดูกับคุณครูประจำชั้น อย่างน้อยหากมีจุดที่ควรต้องปรับปรุงครูน่าจะบอกแน่นอน แต่ในอีกแง่นึง หากครูไม่มีคำแนะนำอะไร เราอาจจะต้องลองเช็คกับลูกดูว่า มีส่วนไหนที่ยากง่ายมั้ย จะได้เตรียมความพร้อม ถึงจะไม่เชิงในการติว หรือ เรียนพิเศษ อย่างน้อยก็อาจเพิ่มความมั่นใจ หรือ ปรับเปลี่ยนความคิดที่อาจไม่ค่อยถูกต้องได้




เสริมการเรียนการสอนผ่านโปรแกรม i-ready


พอมีผลสอบ i-Ready ออกมา คุณครูประจำชั้นก็จะปรับการเรียนการสอนบางส่วนให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก เช่น ลูกชายสอบวัดผลออกมาได้คะแนนสูง เค้าก็จะได้การบ้านและงานบางส่วนที่ยากกว่าเด็กคนอื่น และเพราะโรงเรียนในอเมริกาในชั้นอนุบาล ถึง ป. 2 จะมีการเรียนการสอนบางส่วน ผ่าน tablet ส่วนตัว (โรงเรียนจัดให้ และเป็นทรัพย์สินของโรงเรียน) แม่เลยโอเคว่าถึงงานทั่วไปจะง่ายเกินไป และอาจไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของลูก แต่ก็ยังมีบทเรียน การเรียนรู้ผ่าน i-Ready และแอปเสริมอื่นๆ ที่มี process การเรียนรู้ตามความสามารถของเด็กแต่ละคน


เพราะฉะนั้นใครเรียนรู้ไปไกลหน่อยก็เรียนไปก่อนเลยจ้า ไม่ต้องรอคนอื่น ส่วนเด็กที่เรียนรู้ช้าหน่อย ก็ไปตามจังหวะของตัวเอง ไม่ต้องรีบร้อนและรู้สึกหงุดหงิดใจเวลาเรียนตามไม่ทัน ตอบโจทย์ โดนใจแม่ เข้าสังคมและเรียนรู้ไปกับเด็กในวัยเดียวกัน โดยที่ต่างคนต่างได้เรียนรู้ตามศักยภาพของตัวเอง



อย่างไรก็ดี มีเด็กบางส่วนที่มาทางสายวิชาการมากๆ และ/หรือมีพื้นฐานนิสัยรักสันโดษ ไม่ค่อยชอบเข้าสังคม หรือ อยากคุยแต่กับผู้ใหญ่หรือเด็กโตหน่อย การเรียนในหลักสูตรทั่วไปก็อาจจะไม่เหมาะ อาจจะเบื่อจนไม่อยากไปโรงเรียนไปเลย ดีว่าลูกชายคือชิวมาก วิชาโปรดนอกจาก วิทยาศาสตร์ คือ เวลาพัก Recess กับช่วง Media Center เข้าห้องสมุด เหมือนแม่ไม่มีผิดเพี้ยน 😅 หลักสูตรทั่วไปในโรงเรียน พูดตรงๆ ว่า ถึงจะง่ายเกินไปสำหรับเค้า จึงไม่ได้มีผลเสียมากนัก


ดูความสนใจและธรรมชาติของเด็กเป็นหลัก เพื่อหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเค้านะคะ



เราควรตรวจดูและทำความเข้าใจผลสอบ i-Ready อย่างคร่าวๆ เผื่อลูกมีปัญหาตรงจุดไหน จะได้ช่วยปรับจุดบกพร่อง หรือเสริมความมั่นใจได้ อย่างลูกชายชอบบ่นว่าเลขยาก ยากเหลือเกิน บ่นจนแม่เริ่มหนักใจว่าจะช่วยยังไง เพราะแม่ก็งงว่าเลขเด็กอนุบาล หรือ เด็ก ป. 1 เนี่ยนะ มันจะไปยากได้ยังไง (โดยเฉพาะในอเมริกา เทียบกับเอเชีย เป็นที่รู้กันว่าเลขที่นี่ง่ายกว่าเยอะ) ถามครูมา 2 ปี ครูก็บอกว่าลูกทำได้ดีมากแล้ว ไม่มีอะไรจะแนะนำหรือต้องปรับปรุง (แล้วลูกมาบ่นอะไรเยอะแยะเนี่ยยยย) แต่ถ้าเราดูจากการวัดผล i-Ready ถึงผลโดยรวมจะออกมาโอเคทั้งหมด แต่เราสามารถรู้ได้ว่าลูกอ่อนตรงจุดไหน ก็อาจจะหาเกมส์ หาแอป มาเสริม ช่วยให้เค้ามีความมั่นใจขึ้นได้


ยกตัวอย่าง ปัญหาของลูกชาย คือ Reading Skills เค้าไปไกลมาก พอเทียบกับเลข ที่เค้าไม่ได้ถนัดเท่ากับการอ่าน เค้าก็มาสรุปในหัวเอาเองว่าเค้าไม่เก่งเลข และคิดว่าเลขยาก เมื่อมีปัญหาแบบนี้ ความคิดว่าตัวเองไม่เก่งเลข กับผลคะแนนที่ออกมาดี ไม่มีปัญหา เมื่อความคิดกับผลสอบออกมาผลไม่ตรงกัน ทำยังไงดี....... แม่ก็เลยบอกว่า งั้นลองใช้เวลาอ่านคำถามวิชาเลข 2-3 รอบดูนะ คำตอบมันอาจจะไม่ได้ออกมาเลยทันทีเหมือน Reading ตรวจทานให้ดีก่อนและลองทดตัวเลขลงบนกระดาษ ไม่ต้องรีบทำเพื่อจะให้แค่เสร็จๆ ไป ถ้าได้คะแนนดีขึ้น แม่จะมีรางวัลให้ ของเล่นหรืออะไรที่อยากได้เป็นแรงจูงใจที่ดีเสมอ (เผื่อใครนำไปใช้ได้นะคะ ถ้ายากแต่หากได้รางวัล อาจทำให้อะไรๆ มันดูง่ายขึ้น 😁)


ในทางกลับกัน ถ้าลูกบอกว่า โอ้โห สอบสบายมากแม่ หมูๆ เลย แต่ผลสอบออกมา อ้าวลูก แม่ว่ามันไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะ ก็ควรต้องมีการปรับ mindset กันเล็กน้อย เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น ทำได้ดีก็ควรชื่นชม ทำได้ไม่ดีก็ควรมีการทำความเข้าใจ โดยเฉพาะถ้าเห็นคะแนนอะไรที่ถดถอยลงมา การพูดคุยกัน หรือการให้คำแนะนำ อาจจะช่วยได้มากมายกว่าที่คิด โดยอาจไม่ต้องมีการติว หรือ เรียนเพิ่มเติมด้วยซ้ำ





เราเองก็ผ่านระบบการศึกษากันมาก่อน เคยเจอจุดยากๆ ปัญหาน่าเบื่อหน่าย ข้อบกพร่อง หรือจุดที่คิดว่าน่าจะพัฒนาได้ในการเรียนรู้ ในเมื่อลูกเราจะต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาในระบบ (อย่างของบ้านนี้ก็อีก 10 กว่าปี) พอมีผลสอบออกมาที่มีให้ดูง่ายๆ ว่าลูกเราเก่ง หรือ ไม่เก่งอะไร สำหรับผู้เขียนเอง เราก็น่าจะยินดีกับการยื่นมือช่วยด้วยความเต็มใจ หากมันสามารถทำให้ลูกมีประสบการณ์เรียนรู้เชิงบวกและรู้สึกดีขึ้นได้กับการเรียน


ไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวกับการแข่งขันกับคนอื่นเสมอไป แต่จะทำยังไงให้ลูกได้เรียนรู้และพัฒนาตามศักยภาพและความสนใจของตัวเค้าเองให้ได้สูงที่สุด ได้เรียนรู้พร้อมกับสนุกไปกับการใช้ชีวิตในวัยเด็ก ทั้งในและนอกห้องเรียน นั่นล่ะแม่ว่าสำคัญที่สุด


หวังว่าบทความ ทำความรู้จัก i-Ready จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ ถ้าอ่านแล้วชื่นชอบ หรือ บทความนี้มีประโยชน์ สามารถสนับสนุนบล็อกนี้ได้ด้วยการแชร์ หรือช่วยอุดหนุนสินค้าแนะนำกันได้ที่หน้าร้านใน Amazon นะคะ (ไม่ได้ขายของเองโดยตรงนะคะ เป็นการแนะนำสินค้าเฉยๆ) โดยเฉพาะ ของเล่นแนะนำ และ หนังสือแนะนำ ขอบคุณมากค่า ไปติดตามแม่ได้ที่ Facebook หรือ Instagram: Land of the Raising Sons นะคะ ขอบคุณมากค่ะ


ป.ล. อยากให้เขียนบทความเกี่ยวกับอะไร คอมเมนต์มาได้นะคะ




Hi, I'm Ketsiree Tury. Let's Connect!

Foodie | Blogger | Content Strategist


เคยทำงานด้าน Digital Content Marketing ดูแลการทำเว็บไซต์และโซเชียล ค้นหาข้อมูลเขียนเนื้อหาและบทความบนเว็บไซต์นมผงชื่อดัง ผงซักฟอกยี่ห้อชื่อดัง รวมไปถึงแบรนด์ FMCG อีกหลายแบรนด์ แต่งานที่สำคัญที่สุดคือเป็นมัมมี่ของลูกจ้า


Facebook: Land of the Raising Sons

Instagram: Land of the Raising Sons

Pinterest: Land of the Raising Sons

Store: Land of the Raising Sons

661 views0 comments
bottom of page